การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ประเภท ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว และอาคารชุดทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีโรงงานพรีคาสท์ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปที่สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคต่างๆ ได้

แนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ

1.
ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามข้อบังคับกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
2.
ควบคุมและจัดการคุณภาพของน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม
3.
ประหยัดการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และสำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
4.
ดำเนินการคัดแยกประเภทขยะทุกครั้งก่อนทิ้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการของเสีย
5.
เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ และจัดหาพลังงานหมุนเวียนทดแทนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
6.
ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ โดยให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนใกล้เคียง พร้อมสร้างคุณภาพ ชีวิตและสุขอนามัยที่ดีให้กับพนักงาน

การป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการที่อยู่อาศัย

บริษัทฯ ดำเนินการโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยไม่เกิน 500 แปลงขึ้นไป หรือเนื้อที่ไม่เกินกว่า 100 ไร่ บริษัทฯ จึงไม่ต้องทำรายงงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA Report (Environmental Impact Assessment Report) แต่บริษัทฯ ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนการขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ แนวราบ ส่วน ทั้งก่อนเริ่มการก่อสร้างโครงการ ระหว่างการก่อสร้างโครงการ และช่วงดำเนินการโครงการ โดยมีวิเคราะห์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ได้แก่

  • ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น คุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน คุณภาพน้ำ
  • ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบนิเวศวิทยาสังคมเมือง
  • ด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เช่น ปริมาณน้ำที่ใช้ การจัดการขยะมูลฝอย การใช้ไฟฟ้า
  • ด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย

ในปี 2562 บริษัทฯ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA Report (Environmental Impact Assessment Report) โดยได้รับมติให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ 1 โครงการ คือ The MOST อิสรภาพ โครงการคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง ที่มีการออกแบบแลนด์สเคปสีเขียวร่มรื่นของไม้ใหญ่ แต่ยังมี Vertical Garden สวนสวยในแนวดิ่งที่ทำหน้าที่เป็นม่านสีเขียว ให้ความงามสบายตา และเป็นฟิลเตอร์ฟอกอากาศที่ช่วยดักจับฝุ่นไม่ให้กระจายสู่พื้นที่พักอาศัย บรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การออกแบบโครงการและบ้านอย่างยั่งยืน

การออกแบบโครงการและบ้านถือว่าเป็นส่วนสำคัญเพื่อช่วยลดผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ในปีที่ผ่านมาช่วงฤดูหนาวของเมืองไทย กลายเป็นฤดูฝุ่นพิษของชาวกรุงเทพฯ อย่างถาวร สร้างปัญหาให้กับคุณภาพชีวิตคนเมืองหนักขึ้นทุกๆ ปี หนึ่งในวิธีลดฝุ่นพิษอย่างยั่งยืนที่เราต่างทราบกันดี ก็คือ การปลูกต้นไม้ซึ่งดักจับฝุ่นพิษ PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเกราะป้องกันภัยคุกคามจากหมอกพิษที่ชุมชนเมืองต้องการ

การออกแบบบ้านของเนอวานาเป็นการออกแบบ Whole-home Ventilation เน้น Passive Ventilation หรือการถ่ายเทอากาศผ่านช่องเปิด นับเป็นความโดดเด่นของบ้านเนอวานาที่เกิดขึ้นโดยการค้นหาโซลูชั่นตลอดขั้นตอนการออกแบบ จึงทำให้เกิดการจัดวางตำแหน่งช่องเปิดได้อย่างทั่วถึงในทุกมุมของบ้าน และเป็นตำแหน่งที่คำนึงถึงทิศทางลมเข้าและลมออก ที่จะก่อให้เกิดการไหลเวียนอากาศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด บ้านเนอวานาทุกโครงการ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมรวมไปถึงโฮมออฟฟิศ จึงปราศจากมุมอับลม อันเป็นจุดสะสมฝุ่นละอองและเชื้อโรค

Nirvana Living Revolution จึงมาพร้อมการติดตั้งระบบ Air Control System ระบบการฟอกอากาศภายในบ้าน ซึ่งสามารถกรองฝุ่นในระดับ 1 ไมครอน หรือ PM 1 สามารถขจัดปัญหามลพิษ PM 2.5 ได้

นอกจากนี้ปัญหาฝุ่นละอองสะสมจากการก่อสร้าง นับเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจจะทำให้ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างที่ตกค้างในจุดอับต่างๆ Building Technology ของบ้านเนอวานามีระบบการก่อสร้างด้วย Prestressed Precast Technology จากญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงมีความแข็งแรงทนทานสูงเท่านั้น แต่ยังควบคุมการผลิตตามมาตรฐานประเทศญี่ปุ่น จึงได้ชิ้นส่วนคอนกรีตของวัสดุอื่นๆ ในขนาดที่แม่นยำ อีกทั้งการเตรียมการอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน จึงลดปัญหาขยะและฝุ่นที่จะตกค้างหลังก่อสร้าง บ้านเนอวานาจึงสามารถส่งมอบบ้านปราศจากฝุ่นละอองสะสม

Reused, Recycle และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในการก่อสร้างแต่ละครั้งเราต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนไม่น้อย และเมื่อคิดถึงการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์หรือ Life Cycle Assessment ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจัดการเมื่อวัสดุเหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน ตัวอย่างเช่น การผลิตคอนกรีตต้องใช้พลังงานและทรัพยากร 700 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ลูกบาศก์เมตร ส่วนกระบวนการผลิตไม้เราจะสูญเสียพลังงาน 350 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ลูกบาศก์เมตร การเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งาน สภาพภูมิอากาศ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพื่อให้การบริโภคทรัพยากรเป็นไปอย่างรู้คุณค่าตลอดอายุขัยที่แท้จริง ระบบ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในวงการสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมเพื่อการก่อสร้าง เช่น การผลิตผิวสำเร็จหรือการเคลือบที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างยางรถยนต์หรือแก้ว แผงฉนวนกันความร้อนที่ทำจากเศษไม้ก๊อกบด หรือการใช้เซลลูโลสเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมกระดาษมาทดแทนพลาสติก เป็นต้น ความพยายามที่จะนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reused) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการใช้วัสดุจากแหล่งซัพพลายใกล้เคียงเพื่อลดความสิ้นเปลืองด้านการขนส่ง และรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดการสร้างขยะจากการก่อสร้างให้น้อยลงนั้น ยังหมายถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรที่ลดลงด้วย