บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร ผู้ถือหุ้น สังคม ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับการวางแผนกลยุทธ์ โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายองค์กรอยู่ตลอดเวลา และเพื่อมองหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีจะมีการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายตามแผนธุรกิจ และกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ตลอดจนบูรณาการกระบวนการบริหารความเสี่ยงเข้ากับกระบวนการทำงานขององค์กร โดยพัฒนาระบบการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายในด้วยตนเอง (Risk Control Self-Assessment: RCSA) เพื่อประเมินความเพียงพอของการควบคุมที่มีการออกแบบไว้ให้สอดคล้องกับขั้นตอนการทำงาน และการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าของกระบวนการจะเป็นผู้ประเมิน และปรับปรุงการควบคุมภายในของหน่วยงานหรือการปฏิบัติงานของตนเองตามแผนงานที่กำหนด เพื่อป้องกัน หรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มากระทบต่อการทำงานส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดจนติดตามและรายงานผลการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาและให้ข้อคิดเห็น ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการความเสี่ยง และสนองตอบต่อความเสี่ยงของธุรกิจของบริษัทฯ ในทุกด้าน

นโยบายการบริหารความเสี่ยง

บริษัทฯ ได้จัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยง โดยกำหนดกรอบการปฏิบัติงานและกระบวนการ เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำแนวทางของ The COSO Enterprise Risk Management Framework มาปรับใช้ในการระบุและประเมินความเสี่ยงของกิจกรรมทางธุรกิจที่บริษัทฯ ดำเนินการ เพื่อจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการดำเนินงาน รวมทั้งติดตาม กลั่นกรอง ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะงานด้านการบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กร ตลอดจนพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของบริษัท และพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และบริษัทฯ ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานในฐานะเจ้าของความเสี่ยง (Risk Owner) มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงที่อยู่ในความรับผิดชอบ

วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร (Risk Culture) โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จะกำหนดนโยบาย กรอบและแนวทางปฏิบัติ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นที่สำคัญ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานนำไปปฏิบัติ และติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงจัดให้มีการสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยง องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง การจัดการเหตุฉุกเฉิน/ภาวะวิกฤต และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เกี่ยวกับธุรกิจ ผ่านช่องทาง Risk Portal นอกจากนี้ บริษัทฯ สนับสนุนให้พนักงานมีทัศนคติและพฤติกรรมในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนี้

  • กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง วัตถุประสงค์ กรอบการบริหารความเสี่ยง และแนวทางการบริหารความเสี่ยง
  • กำหนดให้มีการนำแนวทางไปปฏิบัติ และมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับคณะกรรมการ ระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ
  • จัดให้มีการสื่อสารและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านช่องทางต่างๆ

ในปี 2562 บริษัทฯ ได้สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเรื่องการบริหารความเสี่ยงผ่านช่องทางการฝึกอบรมให้กับพนักงานในส่วนของสำนักงานใหญ่ โดยจัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้กับพนักงานจำนวน 1 หลักสูตร และในอนาคตจะจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานตามโครงการ และโรงงานของบริษัทฯ ต่อไป

การวิเคราะห์ การประเมิน และการบริหารจัดการความเสี่ยง

1.

ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)

แม้ว่านโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่มีความเข้มงวดมากขึ้น อันเป็นผลจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยมีอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับล่าง แต่โดยที่โครงการส่วนใหญ่ของบริษัทฯ อยู่ในระดับราคาที่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางขึ้นไป ซึ่งมีกำลังซื้อและมีความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ รวมทั้งการที่กลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ เป็นกลุ่มที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง ไม่ใช่เพื่อการลงทุน จึงทำให้อัตราการปฏิเสธการให้เงินกู้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างราคาขาย และเน้นให้มีการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของลูกค้าทุกราย โดยร่วมมือกับธนาคารอย่างใกล้ชิด ทำให้บริษัทฯ สามารถลดจำนวนการยกเลิกการซื้อเนื่องจากการขออนุมัติสินเชื่อไม่ผ่าน

2.

ความเสี่ยงด้านปฏิบัติงาน (Operational Risk)

จากการที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง จำนวนผู้รับจ้างเหมาและแรงงานจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงาน โดยบริษัทฯ ได้ปรับปรุงกระบวนกระบวนการจัดหาผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor) ให้ครอบคลุมถึงการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง และปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน โดยบริษัทฯ มีการบริหารจัดการความเสี่ยง ดังนี้

1.
จ้างเหมาผู้รับเหมา จ้างโดยครอบคลุมการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง โดยบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการตรวจคุณภาพงานของผู้รับเหมา
2.
จัดจ้างผู้รับเหมาโครงการระดับกลางถึงใหญ่เพิ่ม เพื่อเป็นทางเลือกในกระบวนการก่อสร้าง และ
3.
ปรับกระบวนการก่อสร้าง โดยให้ฝ่ายก่อสร้างปรับปรุง แผนการใช้วัสดุและกำหนดให้มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุกเดือน เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

3.

ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk)

จากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ ได้จัดให้มีการบริหารแผนการเบิกเงินกู้ และการชำระคืนเงินกู้ให้มีความเหมาะสม ตลอดจนการเจรจาขอปรับดอกเบี้ย และ/หรือการขยายระยะอายุวงเงินกับธนาคาร การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศสำหรับนิติบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (FCD) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)

บริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหรือสร้างผลกระทบกับโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่แก่องค์กร โดยการประเมินและทบทวนความเสี่ยงที่เกิดใหม่ (Emerging Risk) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้

1.
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. ผังเมืองฉบับใหม่ บริษัทฯ ได้ติดตามและวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อที่ดินของบริษัทฯ เพื่อพัฒนาโครงการในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงผังสีทาวน์เฮาส์ ตลาดธุรกิจบ้านเดี่ยว และตลาดคอนโดมิเนียม เพื่อให้สามารถดำเนินการในการ ขออนุญาตต่างๆ ได้ทันเวลา ทุกฝ่ายมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยได้พิจารณาถึงเงื่อนไขการจัดหาที่ดินในเขตพื้นที่ที่คาดว่าอาจมี การเปลี่ยน แปลงผังสีในอนาคต เพื่อโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
2.
ความเสี่ยงจากการกำหนดมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน บริษัทฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายงานกลยุทธ์องค์กร และฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ติดตาม และ วิเคราะห์ถึงปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อการวางกลยุทธ์ และการกำหนดแผนงานในอนาคต